น้องหนึ่ง เสือมัจฉา
“ ตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3 เสื้อนักเรียนของผมมีแต่ชื่อคนอื่นปักอยู่บนหน้าอก ไม่เคยมีชื่อตัวเองเลย
เพราะต้องใส่เสื้อที่คนอื่นบริจาคให้ ผมต้องเดินเท้าเปล่ามาตั้งแต่อนุบาล เพิ่งมามีรองเท้านักเรียนใส่ตอน ม.2
แต่ผมไม่สนใจครับ เพราะเป็นแค่ของนอกกาย ขอแค่มีโอกาสเรียนก็ดีใจแล้ว ”
เพราะต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีมากเท่าคนอื่น ทำให้ ‘หนึ่ง เสือมัจฉา’ ต้องพยายามอย่างหนัก ทั้งหางานทำ ขอทุนการศึกษา และไปอาศัยอยู่วัด เพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสเรียนหนังสือ หนึ่งเล่าย้อนกลับไปถึงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็กของตัวเอง เขากลายเป็นเด็กกำพร้า เพราะสูญเสียคุณพ่อตั้งแต่ 2 ขวบ และคุณแม่ก็มาเสียชีวิตจากไปอีกคนตอนที่เขาอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น
เขาต้องเริ่มทำงานในสวนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ด้วยค่าแรงวันละ 30 บาท และอาศัยกินอยู่กับเถ้าแก่ไปด้วย โชคดีที่เถ้าแก่มีเมตตาต่อเขา จึงช่วยส่งให้เรียนหนังสือจนจบชั้น ป.6 จากนั้นเขาก็ต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงิน ก่อนพยายามเก็บเงินจนได้ก้อนหนึ่ง และเริ่มหาทุนการศึกษาเพื่อให้ได้เรียนต่อ
“ ไม่ว่าจะเป็นทุนของชุมชน ทุนของวัด ทุนเด็กกำพร้า มีทุนอะไรผมเอาหมด รีบคว้าเลยครับ
เนื่องจากโอกาสมีไม่มาก จนผมได้เรียนต่อ ม.ต้น สมใจ ”
หนึ่งเล่าว่าหลังเรียนจบชั้น ม.3 ตอนแรกเขาไม่คิดจะเรียนต่อ เพราะไม่มีใครส่งเรียน ลำพังที่ทำงานอยู่กับเถ้าแก่ และได้เงินวันละ 30 บาทก็คงไม่พอ จึงคิดว่าจะทำงานอยู่กับเถ้าแก่ไปเรื่อย ๆ แต่แล้วก็ได้ทราบว่ามีทุนการศึกษาจากมูลนิธิดำรงชัยธรรม ของคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ซึ่งสามารถส่งเรียนจนจบปริญญาตรีได้ จึงตัดสินใจเขียนเรียงความส่งไปเพื่อขอทุน และเขาก็ได้รับทุนมาในที่สุด
“ ถ้าไม่ได้รับทุนจากมูลนิธิดำรงชัยธรรม ก็คงไม่ได้เรียนต่อเลย 100%
คงต้องหยุดเรียนที่ชั้น ม.3 เพราะต่อให้ได้ทุนอื่น ๆ ก็คงจะไม่ได้รับเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแบบนี้
การได้ทุนครั้งนี้เหมือนผมได้ชีวิตใหม่ ”
จากนั้นหนึ่งก็เริ่มเรียนต่อชั้น ม.4 ก่อนจะค้นพบว่าตัวเองชอบการซ่อมรถ และคิดว่าจะเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนสายวิชาชีพ ด้านช่างยนต์ จนจบชั้น ปวส. โดยในระหว่างนั้นก็ไปอาศัยอยู่ที่วัด เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าหอพักและค่าอาหาร พร้อมกับทำงานพิเศษที่โรงงานประกอบและซ่อมเครื่องยนต์ เพื่อหารายได้เสริมสำหรับเลี้ยงตัวเองไปอีกทาง
แล้วโอกาสครั้งใหญ่ก็เข้ามาในชีวิตของหนึ่ง เมื่อบริษัท ปตท. ประกาศคัดเลือกนักศึกษาเข้าเป็นพนักงานช่างเทคนิค เขาจึงตัดสินใจสมัครสอบ และกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สอบติด จนได้ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ ตำแหน่งพนักงานควบคุมการผลิต ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. จังหวัดระยอง มานานเกือบ 6 ปี
“ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ผมตั้งใจนำความรู้ที่เรียนมาใช้กับการทำงานให้มากที่สุด
จนผมได้รับรางวัลมากมายจากองค์กร เช่น รางวัลผู้ที่มีจิตอาสาดีเด่นปี 2559
และรางวัลผู้ที่รายงานสภาพที่ไม่ปลอดภัยในโรงงานดีเด่นตั้งแต่ปี 2556-2560 ”
หนึ่งบอกอีกว่าเพราะตัวเองเคยได้รับโอกาสได้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิดำรงชัยธรรม เขาจึงมีความฝันว่าอยากจะเป็นผู้ให้กับคนอื่นบ้าง โดยในอนาคตเขาอยากเปิดศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีให้กับคนอื่น ๆ เพื่อจะนำไปประกอบวิชาชีพได้