คำบอกเล่าแสนธรรมดาของเพื่อนหนุ่มชาวมาไซ เมื่อเราอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Samburu ทางตอนเหนือของเคนย่า
ก่อนจะบอกข้อปฏิบัติและข้อห้าม รวมถึงคำแนะนำอีกสารพัดเมื่อเจอสัตว์ป่า ระหว่างที่รถตู้หลังคาเปิดจะพาเราลัดเลาะ ขับวนอยู่ในจุดที่สัตว์แต่ละชนิดจะออกหากิน
ทุ่งหญ้าสีทอง เป็นลานกว้างโล่งคือจุดที่เราเจอ สัตว์หลายชนิด หลายขนาด ออกหากิน ทั้งตระกูลเดียวกับกวาง ไก่ นก ม้าลาย ฮายีน่า และ ยีราฟ เป็นต้น
พื้นที่ริมน้ำ เป็นบริเวณที่เราพบสัตว์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น (สัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลางก็ยังเจออยู่) เราเจอช้าง เจอสิงโต เจอจรเข้ และอีกสารพัดสัตว์
เราแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า ตลอดทั้งวัน เกือบ 10 ชั่วโมง เราเจอสัตว์เป็นร้อยเป็นพันตัว แต่ทุกตัว ทำอยู่แค่ 2 อย่าง คือ กิน กับนอน
สัตว์ทุกตัวไม่มีความตื่นกลัวเมื่อเจอรถตู้หลังคาเปิด และรถจี๊ปคันโต ของแขกผู้มาเยือนอย่างเราและคนอื่นๆ
เมื่อเราเข้าใกล้ พวกมันเพียงเหลือบตา หรือผงกหัวขึ้นมามอง แล้วหันกลับไปกิน หรือนอนต่อ
เราตั้งคำถามกับเพื่อนว่า ทำไม สิงโตเอาแต่นอน ทำไมช้างเอาแต่กิน และทำไมสัตว์น้อยใหญ่อื่นๆ ทำตัวเหมือนเราเป็นอากาศ และไม่แยแสเราเลยสักนิด
เราคุยกันยืดยาว แต่ทั้งหมดนั้น สรุปสั้นๆได้ว่า
‘ถ้ากินอิ่มก็ไม่จำเป็นต้องออกล่า
ถ้าอยู่สบายก็ไม่ต้องกังวล
เพราะที่นี่ คือบ้านของพวกมัน ‘
และความสุขของทุกสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้น เมื่อมี “พื้นที่ปลอดภัย”
รัก
เก่ง กับ ฝ้าย
**หมายเหตุ**
พื้นที่เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าSamburu ตั้งอยู่เขตทางเหนือของเคนย่า และยังอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรอีกด้วย
เมื่อเราอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรนั่นหมายความว่าสภาพแวดล้อมทางนี้จะต่างกับเคนย่าบริเวณที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร พื้นที่แถบนี้ จะแห้งแล้ง ฝนน้อย (เพื่อนบอกที่บ้านนางเฉลี่ยฝนตกปีละ 3 ครั้ง ) และอุณหภูมิค่อนข้างสูงกว่าตรงเส้นศูนย์สูตรและพื้นที่ใต้เส้นศูนย์สูตร
ดังนั้นแถบนี้จะมีสัตว์เพียงบางชนิดอาศัยอยู่ได้ อย่างสัตว์ในกลุ่มBig five หรือ สัตว์5 ชนิดที่เป็นสัญลักษณ์ของเคนย่า คือ ช้าง ควายป่า เสือ สิงโต และ แรด ในเขตพื้นที่ Samburu ก็จะไม่มีแรดให้เห็น
ในขณะที่สัตว์บางชนิดก็จะพบมากเป็นพิเศษเพราะไม่ชอบความหนาวเย็น เช่น ช้าง เป็นต้น
เรื่อง: สุวิมล จินะมูล บัณฑิตทุนรุ่น 6/50
ที่มา: เก่ง – ฝ้าย by ปักหมุดสุดขอบโลก