ความเข้าใจของคนส่วนหนึ่งคิดว่า “การเลือกตั้ง” คือนิยามของคำ “ประชาธิปไตย” อาจเป็นเพราะนี่คือกิจกรรมที่บุคคลที่มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์มีโอกาสเข้าร่วมเพื่อรักษาสิทธิ์และทำตามหน้าที่ซึ่งเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและมีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง เป็นที่น่าวิตกที่ความเป็นประชาธิปไตยถูกมองเพียงมุมเดียว ยิ่งไปกว่านั้นคือเกิดขึ้นตามวาระ หากพิจารณาตามรูปศัพท์ ประชาธิปไตย คืออำนาจการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนก็คือคนซึ่งยังลุ่มหลงในเกียรติ ลาภ ยศ สรรเสริญ นั้นคือกิเลส ไม่มีเครื่องมือชนิดใดที่จะบ่งบอกได้ว่า คนนั้นมีกิเลสหรือคนนี้ไม่มีกิเลส ดังนั้นไม่อาจระบุได้ว่าอำนาจการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่คือนิยามของประชาธิปไตยที่เที่ยงแท้
ประชาธิปไตยคือชีวิต ขยายความว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาพร้อมกับลมหายใจ ทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิได้รับการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล ฯลฯ สิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนโดยอาศัยพื้นฐานของความเป็นธรรม ธรรมจึงเป็นเส้นบรรทัดที่มีอำนาจตัดสินพฤติกรรมให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ อลิสโตเติล มองว่า “คนเราเป็นสัตว์การเมือง” นอกจากจะใช้ชีวิตเพื่อการอยู่รอดแล้ว การมีปฏิสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่คนเราต้องมีซึ่งกันและกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทระเบียบเป็นแบบแผนสำหรับควบคุมความเป็นกิเลสในตัวคนทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว
คนจึงต้องตระหนักในสิทธิ์ ๒ ส่วน คือ ๑. สิทธิ์พึงได้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนมีความเข้าใจส่วนนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมไม่มีใครได้มากกว่าหรือน้อยกว่าเหมือนกับชีวิต ไม่ว่าคนเราจะแตกต่างทางฐานะหรือชาติพันธุ์ โลกใบนี้ก็อนุญาตให้เรายืนเท่าเท้าของเราจะยืนได้ และ ๒. สิทธิ์พึงทำ ควรตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง หมั่นตอบคำถามให้กระจ่างว่า เราคือใคร ? ควรทำอะไร ? เวลาใด ? แล้วลงมือทำโดยไม่ต้องไปก้าวก่ายส่วนอื่น ๆ ให้เกิดความเดือดร้อน สิทธิทั้ง ๒ ส่วน เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบที่จะทำให้คำว่าประชาธิปไตยมีชีวิตชีวาเหมือนกับวัตถุประสงค์ครั้งเริ่มต้นระบอบการปกครองประชาธิปไตย
ตลอด ๘๐ กว่าปีของระบอบการปกครองประชาธิปไตยในประเทศไทย หากเปรียบเป็นคน คงอยู่ในช่วงวัยชราภาพมากแล้ว การที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก น่าฉุกคิดถ้าประชาธิปไตยเข้าสู่วัยชราภาพจริง ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราสัมผัสประชาธิปไตยแทบจะนับครั้งได้ และเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่ง “ประชาธิปไตยจะเต็มใบสักที” แล้วจะต้องรออีกนานเท่าใดกว่าจะผลิดอกออกผลเป็นความสงบสุขอย่างแท้จริง ? ไม่มีใครปฏิเสธว่า ถ้าศึกษาระบอบการปกครองนี้ไม่มีข้อดีสักข้อแต่คงสนับสนุนด้วยซ้ำนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดจนหลาย ๆ ประเทศยอมรับ แต่ก็มีอีกหลายเสียงที่เห็นด้วยและขัดแย้งเป็นคำถามเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเหมาะกับระบอบนี้จริงหรือ ทุกฝ่ายพยายามส่งเสริมวิถีแห่งความสงบสุขบนหน้ากระดาษรัฐธรรมนูญแต่เรากับพบความขัดแย้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น พบพี่น้องญาติสนิทมิตรสหายต้องล้มหายตายจากกับสงครามการเมืองนับตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน เป็นที่น่ายินดีหรือไม่การเริ่มต้นระบอบการปกครองที่ดูจะไปได้สวย ทว่าเกิดข้อผิดพลาดเพียงนิดเดียวคือ…ประชาธิปไตยกลับตกไปอยู่ในมือโจร
นักเรียนทุนรุ่นที่ ๑๓ / ๒๕๕๔ ปัจจุบันศึกษาปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา