ครม.อนุมัติงบ 2 พันล้านบาทให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เนรมิต “ฟิวเจอเรียม” ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต ปั้นเยาวชนรวมทั้งเตรียมกำลังคนรับเทรนด์ 27 อาชีพอนาคตสอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่นักวางแผนระบบการจราจรจนถึงพ่อครัวอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เผยมีห้องทดสอบเข้าปุ๊บรู้ปั๊บว่าตัวเองเหมาะสมกับอาชีพอะไร สร้างที่ อพวช. คลอง 5 ปทุมธานี กำหนดแล้วเสร็จปี 2564
คนไทยจะมีศูนย์เรียนรู้สุดไฮเทคในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดสร้างศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอเรียม (Futurium) วงเงินงบประมาณ 2,076.37 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงอาชีพและทักษะ หรือเป็นศูนย์ทดสอบด้านอาชีพและทักษะแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ โดยอาชีพที่จำเป็นที่จะต้องมีและเป็นที่ต้องการเพราะกำลังขาดแคลนอย่างหนักในศตวรรษที่ 21 ใน 27 อาชีพ คือ นักวางแผนระบบการจราจร วิศวกรเครื่องกล นักออกแบบอุตสาหกรรม นักพัฒนาซอฟต์แวร์ วิศวกรหุ่นยนต์ นักควบคุมหุ่นยนต์ นักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศ นักวางแผนการจัดการภัยพิบัติ เวชกิจฉุกเฉิน นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม วิศวกรพลังงาน วิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ นักพัฒนาพันธุ์พืช วิศวกรรมพันธุกรรม วิศวกรการเกษตรอัจฉริยะ นักวิศวกรรมชีวการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์คิดค้นยา นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร พ่อครัวอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหาร นักออกแบบ 3 มิติ นักหัตถกรรมงานโลหะ นักแกะสลักไม้ วิศวกรการบินและอวกาศ ช่างเทคนิคการส่งข้อมูลข่าวสารและนักบิน ทั้งนี้ในศูนย์ฯ ดังกล่าวจะมีห้องทดลองปฏิบัติอาชีพ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและทดสอบเพื่อให้ทดสอบและได้รู้ว่าตนเหมาะสมกับอาชีพใด และจะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อเดินไปตามความฝันของตนหรือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่กับการเลือกเส้นทางอาชีพ
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอเรียม ยังจะเป็นที่พัฒนาศักยภาพกำลังคนในอีก 8 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ประกอบด้วย การคมนาคมและการขนส่ง หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ จัดการภัยพิบัติ พลังงานทางเลือก การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ/นาโนเทคโนโลยี อวกาศและการบินและนวัติกรรมไทย : เพื่อเมืองไทยที่ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การประดิษฐ์รถไฟฟ้าหรือเครื่องมือแขนกลต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ การคำนวณ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีมาผสมผสานกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคนของอนาคตประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
นางอรรชกากล่าวอีกว่า ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือฟิวเจอเรียม จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ 51 ไร่ ในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2564 โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นของคนไทยทั้งชาติ ไม่ใช่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นพื้นที่สำหรับการเตรียมพร้อมที่จะรับมือเพื่อให้ประเทศไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทัดเทียมกับนานาประเทศ ที่สำคัญในพื้นที่ดังกล่างยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 9 หรือพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นต้น
ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงศูนย์นวัตกรรมฯ เช่นกันว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ อินโนเวชั่นเวิลด์ เป็นนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แบ่งเป็น 8 ส่วน อาทิ นวัตกรรมคมนาคมและขนส่ง นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติ นวัตกรรมพลังงานทางเลือก นวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะ นวัตกรรมอวกาศและการบิน ส่วนที่ 2 คือจ๊อบเวิลด์ เป็นการแนะแนวอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มี 3 ส่วน ได้แก่ การค้นพบแนวทางอาชีพ การแนะแนวอาชีพ และทดลองปฏิบัติอาชีพ โดยจะมีทั้งหมด 27 อาชีพ ให้เด็กได้ทดลองทำจากนั้นจะขยายไปประมาณ 100 อาชีพ จุดประสงค์ของโครงการก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 39 เดือน
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thairath.co.th/content/916961