รู้ไหมว่าทำไม?
แม้คนเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคเหมือน ๆ กัน ในขณะที่บางคนผ่านมันมาได้ แต่บางคนกลับไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้น
สิ่งนั้นเกิดจาก Resilience หรือ ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง
ความแข็งแกร่งในชีวิต
คือ ความสามารถ หรือศักยภาพ ในการยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในชีวิต และสามารถพาตัวเองข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เติบโตและเข้าใจชีวิตมากขึ้น
โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ คนที่มีอายุมากอาจพบเจอหรือมีประสบการณ์ต่าง ๆ มาก่อน ย่อมมีความสามารถที่จะเผชิญปัญหาได้ง่าย
แต่นั้นก็ไม่เป็นจริงเสมอไป เนื่องจากมีปัจจัยตัวอื่น ๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับความแข็งแกร่งในชีวิตคนเราอีก เช่น ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แต่ละคนมองตนเองว่าอย่างไร ให้ความหมายให้คุณค่าในชีวิตตนเองมากน้อยแค่ไหน คุณค่าของตนเองขึ้นอยู่กับใคร
นอกจากนี้ บุคลิกภาพส่วนบุคคลย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับความแข็งแกร่งในชีวิตไม่น้อย เช่น บางคนเป็นคนอ่อนไหวง่าย เจอเรื่องราวปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่กลับคิดว่าตนเองเจอปัญหาในชีวิตที่หนักหน่วงเกินจะรับไหว ความแข็งแกร่งในชีวิตค่อย ๆ ลดลง จนเกิดการเผชิญปัญหาไม่เหมาะสม และน่าเสียดายที่ใครหลายๆ คนแก้ไขปัญหาด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ และนั้นถือเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนได้
ความแข็งแกร่งในชีวิต มี 3 องค์ประกอบ คือ I have, I am และ I can
ซึ่งเราควรเสริมสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง เมื่อถึงคราวต้องเผชิญปัญหา หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต เราจะสามารถดึงองค์ประกอบเหล่านี้มาใช้ และไม่มองข้ามในสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น หรือสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อให้เราผ่านช่วงวิกฤตินั้นได้ ไม่ว่าเราจะทุกข์ ท้อแท้ หรือสิ้นหวัง เพียงใด
องค์ประกอบที่ 1 คือ I have = ฉันมี..
เมื่อเจอปัญหาหรือวิกฤติ ให้เรามองดูว่ามีแหล่งสนับสนุนภายนอก ที่จะช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งในชีวิตของเราหรือไม่ เช่น
- มีคนในครอบครัว หรือนอกครอบครัว ที่ไว้ใจได้และเชื่อใจได้
- มีคนคอยสอน ตักเตือน เมื่อเราอาจกระทำบางสิ่งที่เป็นปัญหามาสู่ตัวเราเอง
- มีตัวอย่างที่ดี
- มีคนที่พร้อมจะให้กำลังใจ และสนับสนุน
- มีแหล่งให้ตนเองได้รับบริการ สวัสดิการ และความปลอดภัย
- มีครอบครัวและชุมชนที่มั่นคง
องค์ประกอบที่ 2 คือ I am = ฉันเป็นคนที่..
เมื่อเจอปัญหาหรือวิกฤติ ให้เรามองดูว่าเราเป็นคนอย่างไร มีความเข้มแข็งภายในตนเองแค่ไหน เช่น
- เป็นคนที่สามารถจะรัก และเป็นที่รักของผู้อื่นได้
- เป็นคนที่มีความภูมิใจในตนเอง
- เป็นคนที่มีพื้นอารมณ์ดี
- เป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจ แสดงความห่วงใยคนรอบข้าง
- เป็นคนที่พร้อมที่จะยอมรับ และยกย่องผู้อื่น
- เป็นคนที่รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง
- เป็นคนที่มีความเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดี
- เป็นคนที่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
องค์ประกอบที่ 3 คือ I can = ฉันสามารถที่จะ..
เป็นปัจจัยด้านทักษะ ในการจัดการกับปัญหา และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ให้เรามองดูว่าเมื่อเจอปัญหา เราสามารถที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ไหม เช่น
- จัดการกับปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสม
- หาทางออก หรือวิธีการใหม่ ๆ
- มุ่งมั่นในงานที่ทำอยู่จนกว่าจะสำเร็จ
- บอกผู้อื่นได้เกี่ยวกับความรู้สึกของตนเอง
- มีอารมณ์ขัน ผ่อนคลายได้
- ขอความช่วยเหลือจากใครสักคนได้ในเวลาที่ต้องการ
- รู้จักเลือกจังหวะเวลา กาลเทศะ
เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติ ความเครียด หรือปัญหา ขอให้ทุกคนได้ลองมองสำรวจความเข้มแข็งในชีวิตของตนเอง ว่ามีองค์ประกอบไหนที่เราสามารถใช้ ในการช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงวิกฤตินั้นไปได้ ขอให้มองให้ครบในทุก ๆ ด้าน
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเผชิญปัญหา เราควรหมั่นเสริมสร้างให้องค์ประกอบต่าง ๆ เกิดความเข้มแข็งด้วยค่ะ
เอกสารอ้างอิง
พัชรินทร์ นินทจันทร์,ทัศนา ทวีคูณ และโสภิณ แสงอ่อน.(2558).ความแข็งแกร่งในชีวิต:แนวคิด การประเมิน
การประยุกต์ใช้.กรุงเทพฯ:จุกทอง
Grotberg, E. (1995). A guide to promoting resilience in children: strengthening the human
spirit. Early childhood development: practice and reflections (ISSN 1382-4813(8).
ผู้เขียน : วิลาวัณย์ สายสุวรรณ บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 10/2554
รีไรท์บทความ : วรัญญา พรหมพิณพิลาส บัณฑิตทุนมูลนิธิดำรงชัยธรรม รุ่นที่ 11/2555
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://news.jarm.com/view/50388