สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 6 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนานักศึกษาสู่ Thailand 4.0″ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี ดร.อรสา ภาววิมล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดี ผู้บริหาร ผู้นำนักศึกษา และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด และสถาบันศึกษาในกำกับของรัฐ เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า ในระยะหลังๆ มานี้ มีการคิดค้นและตั้งคำใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่ง Thailand 4.0 ก็เป็นคำหนึ่งที่ได้ยินบ่อยครั้งในวงการการศึกษา และมีนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา โดยลงแรงน้อยกว่าการใช้สมอง, การเป็นยุคของ Knowledge Economy, การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ส่วนการศึกษาในยุค Thailand 4.0 มีความหมายมากกว่าการเตรียมความพร้อมด้านความรู้เท่านั้น แต่เป็นการเตรียมมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ โดยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและมีแผนในการเตรียมความพร้อมของคนทุกด้าน ให้สามารถมีชีวิตที่ดี อยู่รอดในสังคม และทำมาหากินเป็น โดยเฉพาะในส่วนของนักเรียนนักศึกษาต้องสอนให้มี “ความรู้คู่คุณธรรม และมีทักษะในศตวรรษที่ 21”

ในเรื่องของความรู้ กระทรวงศึกษาธิการมียุทธศาสตร์ตามแผนปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของความดีหรือคุณธรรมนั้น เชื่อว่าควรเริ่มสั่งสอนและสร้างสมมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจะได้ผลสะท้อนกลับคุ้มค่ากับต้นทุนที่ทุ่มลงไปมากกว่าวัยอื่นๆ

ในส่วนของการส่งเสริมการเรียนการสอน STEM Education (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความเข้าใจและรู้เท่าทันโลกยุค Thailand 4.0 โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของโลกและวัตถุต่างๆ และเมื่อมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับ STEM อย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรม (Innovation) ที่จะเป็นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนและส่งเสริม STEM Education มีความก้าวหน้าไปมาก พร้อมทั้งมีแผนที่จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน STEM Education ทั้ง 7 หน่วยงานได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษ เป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารกับนานาชาติ ทั้งเพื่อการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความรู้ การประสานความร่วมมือ และการค้าขาย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการยกระดับภาษาอังกฤษของประเทศผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ การพัฒนาครูภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp, จัดทำแอพพลิเคชั่น Echo Hybrid, Echo English เป็นต้น

ในส่วนของเรื่องครูนั้น พบว่าครูจบใหม่บางส่วนยังประสบปัญหาไม่มีความมั่นใจในการสอนเท่าที่ควร จึงหันไปสอนตามตำราและสื่อที่มีอยู่ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องส่งผลถึงคุณภาพเด็กและเยาวชนด้วย ดังนั้นหากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง (Change) การสอนของครู ก็ควรที่จะพัฒนาปรับปรุงตำราเรียนให้มีมาตรฐานและตอบสนองต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะตำราที่ดีจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากเห็น อยากตั้งคำถาม ซึ่งองค์ประกอบของตำราที่ดีมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่มสวยงาม มีภาพประกอบที่ดี มีหัวเรื่องบทเรียนและเป้าหมายที่ชัดเจน ตลอดจนมีวิธีการและตัวอย่างในการแก้โจทย์-แก้ปัญหา เป็นต้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษาด้วยว่า ควรจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากระดับนโยบายคือสภามหาวิทยาลัยก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อทิศทางการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่จะต้องผลิตคนออกมารองรับการพัฒนาประเทศ โดยควรปรับองค์ประกอบของกรรมการสภามหาวิทยาลัยให้มีขนาดเล็กลง โดยการลดจำนวนกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนควรคงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลในการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งด้วย เมื่อทำได้เช่นนี้การขับเคลื่อนงานในระดับอุดมศึกษาก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนและตอบสนองความต้องการของประเทศมากขึ้น

ดร.อรสา ภาววิมล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558-2563 “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้โมเดล Thailand 4.0 เพื่อผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การวิจัยและการพัฒนา ตลอดจนการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีบทบาทในการผลิตบัณฑิต เชื่อมโยงกับความต้องการการพัฒนากำลังคนในยุค Thailand 4.0 จึงต้องปรับบทบาทจากการสอนเพื่อให้ความรู้ เป็นการพัฒนานักศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน ผ่านกิจกรรมสร้างประสบการณ์ การเรียนรู้ และการจัดการศึกษาที่สามารถลงมือปฏิบัติและสร้างคุณค่าจากสิ่งที่เรียนรู้ด้วย เพื่อให้การพัฒนานักศึกษาสอดรับและเชื่อมโยงกับนโยบายในการพัฒนาประเทศ

สกอ.จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหาร ผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านพัฒนานักศึกษา ตลอดจนนักศึกษาและผู้นำนักศึกษา ได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนา และการแก้ปัญหาสำหรับการดำเนินกิจการนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายพิเศษจากวิทยากร อาทิ Thailand 4.0 โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, ยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาสู่ Thailand 4.0 โดย รศ.บัณฑิต ทิพากร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สถาบันพระมหากษัตริย์ โดย พันเอก วรวุฒิ แสงทอง ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น รวมทั้งมีการอภิปรายกลุ่มย่อยในหัวข้อต่างๆ และการจัดนิทรรศการ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.moe.go.th/websm/2016/dec/493.html